‘ศิลปะ สังคม การเดินทาง’ คุยกับ อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ หรือ โจ ศิลปินเจ้าของเพจ Arjinjonathan Studio และเจ้าของแกลอรี Many Cuts Art Space กับการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านผลงาน abstract ที่เสมือนการทำอาหาร ผู้ชิมต้องบอกรสชาติเอง
แนะนำตัว
อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ หรือ โจ ศิลปินเจ้าของเพจ Arjinjonathan Studio และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และยังเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้งแกลอรี Many Cuts Art Space จบการศึกษาปริญญาตรี/โท จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
ทำไมต้อง abstract ?
เราชอบงาน abstract ด้วย สำหรับผมมันดูไม่น่าเบื่อ สามารถพลิกแพลงความคิด วิธีการต่างๆไปได้เรื่อยๆท้าทายตอนที่ทำ สำหรับผมคิดว่ามนุษย์เจอหลายเรื่องราว abstract คือการประมวลผลทางความคิดของเราในช่วงนั้น เพราะฉะนั้นมันมีช่องว่างระหว่างงาน ตัวศิลปิน และคนดู ให้ทุกคนได้คิด ได้รู้สึกกับมัน เริ่มทำตั้งแต่อายุ 20 นิดๆเป็นต้นมา จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 15 ปีแล้ว
มุมมองผลงาน abstract ในไทย
ผมคิดว่าน่าสนใจ เรามีศิลปิน abstract ดังๆหลายคนในประเทศ ช่วงหลังคนเริ่มไม่ติดแล้วว่างานจะออกมาเป็น abstract ไหม? แต่คิดว่างานจะออกมารูปแบบไหนแทน วันนึงเราอาจจะเปลี่ยนรูปแบบของงานตามวิธีการคิด และเริ่มมีแนวทางเยอะขึ้น ประเด็นที่ผมสนใจคือการผลิตงานซ้ำ เห็นจนเข้าใจมัน ผมว่าทุกวันนี้คนเห็นงาน abstract art เป็นของแปลกแต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นมันจะดีขึ้น อย่างเมื่อก่อนศิลปินจะขายผลงานยากเพราะคนไม่เข้าใจ
อะไรที่ทำให้ค้นพบตัวเอง
ในสมัยเรียนสนใจศิลปะหลายประเภท แต่สิ่งที่ถนัดที่สุดคือ painting ช่วงที่เรียนได้ทดลองทำงานหลากหลายแนว ด้วยความที่เป็นคนชอบตั้งคำถาม และเบื่อการทำงานแบบเดิมๆ จึงพยายามมองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ จริงๆแล้วศิลปะทำควบคู่กับหลายอย่างได้ ใช้เวลา 3-4 ปี กว่าจะเจอแนวทางตัวเอง ผมว่าแนวคิดของคนทำงานศิลปะ ต้องการทำสิ่งที่ใหม่และแตกต่าง จะชอบตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้างานคนนี้ดี แล้วเราสามารถทำได้ดีกว่าเดิมไหม หรือเรามีวิธีอื่นในการทำงานไหม ในฐานะครูผมว่านักเรียนศิลปะมีพื้นฐานทักษะอยู่แล้ว แต่ทำยังไงเราถึงจะผลิตผลงานตัวเองออกมาได้ดี อันนี้ต้องใช้ความกล้า และความต่อเนื่องถึงจะทำออกมาได้
Style ผลงานในรูปแบบของ อาจิณโจนาธาน
ปกติจะทำงานเป็น series พอเริ่มคิดอะไรใหม่ได้หรือมีประเด็นอะไรใหม่ๆที่เข้ากับช่วงเวลานั้นก็จะจับมาทำ ตัวงาน abstract เหมือนซ่อนความคิดของผมทั้งหมดในช่วงเวลานั้นไว้ ยกตัวอย่างงานชุดนึงเป็นชุดที่ผมเดินทางปั่นจักรยาน เราพยายามบันทึกความรู้สึกของการเดินทางในช่วงนั้นออกมาเป็นงาน painting แทนการเขียนบันทึกไดอารี่ หรือในงานอีกชุด เราตั้งคำถามว่าอะไรคือ paint อะไรคือ print แล้ว original มันอยู่ตรงไหน งานเลยออกมาเป็นกระบวนการ paint กับ print อยู่ด้วยกัน จะใช้วิธีคิดแบบนี้ คิดต่อว่าช่วงไหนเรามีประสบการณ์กับเรื่องพวกนี้ยังไง แต่หลักๆตัวงาน abstract จะออกมาผ่านสี เพราะผมให้ความสนใจสีที่มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมสังคมไทย จะดึงช่วงบรรยากาศของสีพวกนี้ออกมาทำงาน ถ้าถามว่าอะไรที่ดูงานผมแล้วจำได้ ตัวผมเองบอกไม่ได้ เหมือนคนทำอาหารต้องให้คนอื่นชิมแล้วบอกว่ารสเป็นยังไง
แรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน
มาจากสังคมที่เราอยู่ แต่จะแปรความคิดของสังคมออกมาเป็นตัวงาน abstract มีงานชิ้นนึงของผมเป็นสีสะท้อนแสงหมดเลยเป็นสีแบบ first sense เรามองว่าสีพวกนี้เป็นสีที่มันเคลื่อนตัวไปในสังคมชนชั้นแรงงาน คนกลุ่มนี้เวลาย้ายของ ย้ายถิ่นฐานเวลามาทำงาน ก็จะพกของเล็กๆน้อยๆมาด้วย เช่นกะละมังพลาสติก หรือเสื้อสะท้อนแสง ซึ่งตอนนั้นมันเหมือนเป็นของใหม่แล้วเขาต้องการทำให้มันเตะตา ผมเห็นการเคลื่อนตัวของสีเลยนำมาใช้ในงาน เพราะฉะนั้นงาน abstract แต่ละชิ้นมันไม่ได้บอกว่าสื่อถึงอะไร แต่สำหรับผมในการทำงาน ความคิดรวบยอดในปีนั้นๆ ว่าเราสนใจเรื่องอะไรอยู่
พูดถึง Many Cuts Art Space Gallery
เป็นแกลอรี่เล็กๆอยู่ที่ฉะเชิงเทรา เราต้องการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่กลุ่ม imagine artist ที่ยังไม่เคยแสดงงาน แล้วอยากโชว์ผลงาน ผมเชื่อว่าการแสดงนิทรรศการศิลปะเป็นส่วนสำคัญ เราทำงานเป็นชิ้นออกมามันต้องใช้ความพยายาม แต่ถ้าเราจะทำโชว์ผลงานครั้งนึงมันต้องพูดถึงความคิดของเราตลอดปีสองปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าพื้นที่แสดงผลงานในกรุงเทพค่อนข้างมีเยอะแล้ว พอดีผมอยู่ที่ต่างจังหวัดมันน่าจะเป็นพื้นที่ที่เด็กนักศึกษาหรือศิลปินท้องถิ่น หรือคนรุ่นใหม่ได้แสดงงาน เราเลยทำ many cuts ขึ้นมาซัพพอร์ตคนเหล่านี้ งานในแบบที่พวกเค้าเชื่อว่าแบบนี้มันก็มีคุณค่าทางศิลปะได้ ตอนนี้กำลังจะเปิดที่อารีย์เป็นสาขาที่ 2
มุมมองที่มีต่อ Art reproduction
ผมคิดว่าเมืองไทยขาด ยกตัวอย่างเวลาเราไปมิวเซียมต่างประเทศเราจะสามารถซื้อของที่ระลึก หรือผลิตภัณฑ์ที่มีงานศิลปะติดอยู่ เช่นแก้ว เสื้อ ตรงนั้นผมมองว่าทำให้คนเข้าถึงงานศิลปะมากขึ้น เป็นอีกช่องทางนึงที่ทำให้ศิลปินมีรายได้มากขึ้นจากการขายงานศิลปะเพียงอย่างเดียว ซึ่งราคางานมันอาจจะสูง ถ้ามีคนทำในไทยมากขึ้น อย่างเช่นอยู่บนเสื้อยืด หรือกระเป๋าถือเดินไปไหนมาไหนก็มีงานศิลปะติดอยู่ ก็ทำให้คนจำงานได้ว่าเป็นของศิลปินคนนั้นคนนี้ มันจะทำให้ตลาดกว้างขึ้น นอกจากที่เราจะต้องไปรอดูศิลปินแสดงงาน 1-2 ครั้งต่อปี น่าจะเป็นมิติใหม่ของการเปิดตลาดศิลปะในประเทศไทย
มองศิลปินรุ่นใหม่อย่างไร
ผมว่าศิลปินรุ่นใหม่มีความน่าสนใจมาก ผลงานท้าทายหลายคน สำหรับผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะงานมันค่อนข้างหลากหลายมาก มีเยอะกว่าสมัยผมเรียน หลายคนไม่ได้ติดกับเรื่องที่ต้องทำงานแล้วต้องไปประกวดเพื่อให้ได้รางวัล ทำให้มีอิสระในการทำงาน ผมว่าสิ่งสำคัญคืออิสระในการทำงาน ศิลปะอยู่ตรงนี้มากกว่า มันทำให้เราเห็นผลงานที่แตกต่าง มีความเป็นตัวของตัวเอง อยากให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ งานจะบอกเองว่าเราต้องไปทางไหน