Interview

Blurdepeinture x Adis Art

“ระบบการศึกษาไทยการแข่งขันมันสูง การวาดรูปบำบัดเราจากความเครียดได้”

เมื่อพูดถึงศิลปะ หลายคนมักนึกถึงการปลดปล่อยอารมณ์ลงบนกระดาษ ผ่านดินสอ สีน้ำ สีเทียน แต่ค่านิยมล้อมกรอบจินตนาการ ศิลปะกับเด็กในวันนี้จึงเปลี่ยนไป 

คุยกับเบียร์ – ศุภวรรณ กันทา หรือ blurdepeinture (เบลอ-เดอ-แป็ง-ตูร์) เจ้าของผลงานศิลปะอันมีเอกลักษณ์ สีสันสดใส สะท้อนวัยเด็กที่อยากแก้ไข และปณิธานที่ต้องการปลูกฝังศิลปะให้แก่เด็กๆ

แนะนำตัว

เบียร์ – ศุภวรรณ กันทา หรือ blurdepeinture (เบลอ-เดอ-แป็ง-ตูร์) ศิลปินวัย 25 ปี จากคณะอักษรศาสตร์ สาขาเอกภาษาฝรั่งเศส โททัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเจอแต่ตัวหนังสือและความตึงเครียด จึงเปลี่ยนจากการจับปากกามาจับพู่กัน ปัจจุบันเป็นครูสอนศิลปะเด็ก นักเขียน นักแปล และ painter

เบียร์มีความทรงจำวัยเด็กยังไงบ้างเกี่ยวกับศิลปะ ?

เบียร์เป็นคนเชียงใหม่นอกเมือง สัมผัสกับชีวิตการขึ้นรถประจำทางมาเรียนในเมืองอยู่ตลอด เห็นวิถีชีวิตคนซ้ำๆแต่ละวัน อย่างคนขายน้ำที่กาดหลวงก็เห็นบ่อยจนจำเขาได้ บางคนเจอตั้งแต่เด็กจนโตหลายสิบปีในที่เดิมๆจนเป็นภาพจำ เลยรู้สึกว่ามันคงจะดีถ้าเราเก็บเค้าไว้ในแบบของเราได้ ไม่ต้องเป็นภาพถ่ายก็ได้ บางทีเรายกกล้องถ่ายภาพคนๆนึงเขาอาจจะรู้สึกแปลกว่าเราไปถ่ายเขาทำไม (หัวเราะ)  งั้นเราก็เก็บเค้าไว้ในรูปแบบที่เราทำได้ แล้วไม่รบกวนเขาดีกว่า เลยเริ่มวาดรูปตั้งแต่ช่วงม.6 ท่ามกลางเพื่อนที่เป็นสาวบริหารธุรกิจกันหมดเลย

จุดเปลี่ยนจากการเรียนภาษาฝรั่งเศสมาสร้างงานศิลปะ

จุดแรก เรามีความรู้สึกอยากเข้าศิลปากรมาตั้งแต่แรกเวลามีรุ่นพี่มาแนะนำว่าเรียนที่ไหนก็จะเป็นคณะมัณฑนศิลป์ ดุริยางค์ เราก็รู้สึกว่าเท่จัง ชอบสถาบันนี้แต่เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่ส่งเสริมให้วาดรูป คาบศิลปะจะน้อยมาก ย้อนไปตอนประถมตอนนั้นใจเบียร์ชอบศิลปะ แต่ถูกจำกัดกรอบว่าต้องวาดสวย วาดเหมือน มีเหตุการณ์นึงตอนป.4 มีโครงการวาดรูปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนญี่ปุ่น เบียร์วาดวัดจริงจังมากมีความคิดว่าต้องสวยต้องเป๊ะไม่ให้เสียชื่อ แล้วเบียร์ก็เห็นงานเด็กญี่ปุ่นเขาวาดปลาตัวโตมาก แบบเห็นก้างด้วย เราก็แอบคิดว่าทำไมกล้าวาด ครูไม่ว่าเหรอ เลยเริ่มคิดว่าทำไมระบบไทยกับญี่ปุ่นถึงต่างกันขนาดนี้ ตั้งคำถามในใจว่าทำไมเขาทำได้เราทำไม่ได้

จุดที่สอง ตอนใกล้แอดมิดชั่นถามตัวเองว่า เราสามารถอยู่กับภาษาไปได้ตลอดไหม จะเก่งเท่าคนอื่นไหม ตอนนั้นได้รู้จักคณะอักษรศาสตร์ ศิลปากร เลยเริ่มหาข้อมูลว่ามีสาขาอะไรบ้าง ได้ยินมาว่ามีสาขาทัศนศิลป์เราตั้งโทก่อนเลยแล้วค่อยเลือกเอกเป็นฝรั่งเศส พอเรียนไปภาษาฝรั่งเศสมันยากมาก ตัวเองหมดกำลังใจอยู่ทุกวัน ระบบมีการแข่งขันสูง รู้สึกท้อแต่ก็ต้องเรียนให้จบ เลยคิดว่าเราเอาความเครียดไปผ่อนคลายกับศิลปะได้ เพราะเรียนโทสาขาทัศนศิลป์อยู่แล้ว พอได้วาดรูปมันก็บำบัดเราจากความเครียดได้

แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้ออกมาเป็นผลงานของเรา ?

เบียร์ชอบฝรั่งเศสมาก เพราะเมื่อก่อนคือศูนย์รวมของวิทยาการทุกยุค ถ้าพูดถึงศิลปะในหัวเรานึกถึงโมนาลิซ่า ลูฟวร์ แต่ถ้าให้ทำงานแบบนั้นเราอยู่ไม่ได้ เลยไปหาว่ามีคนอื่นอีกไหมที่เป็นศิลปินฝรั่งเศสแต่ก็ยังทำงานศิลปะโดยไม่ใช่คนดังๆในลูฟวร์ เบียร์ชอบยุค โฟวิสม์ แล้วอองรี มาติส อยู่ในนั้น เรียกว่ายุคป่าเถื่อน ด้วยสีที่ตัดกันรุนแรงเลยหยิบตรงนี้มาเป็นแรงบันดาลใจหลัก

ที่มาของชื่อ  blurdepeinture ?

Blur คือฉายาของ เบียร์ บางครั้งเบียร์เองก็เบลอนิดนึง (หัวเราะ) ในภาษาฝรั่งเศสจะหมายถึงสีฟ้า และความหมายว่าชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ในภาษาอังกฤษ de แปลว่าของ peinture แปลว่ารูปภาพ เลยมีความหมายว่า รูปภาพของเบียร์เองเป็นภาษาฝรั่งเศสค่ะ

เทคนิคการทำงานในแบบของเบียร์

เบียร์จะชอบดูตัวอย่างงานศิลปิน ดูสีเองเทียบสีเอง ใช้ sense ใช้ taste ตัวเอง แรงบันดาลใจที่หยิบมาทำ คือ อองรี มาติส เขาชอบวาดตัวคนกับห้องๆนึง ซึ่งเป็นบริบทผ่อนคลายไม่ได้ต้องตึงเครียดแบบนั่งในสตูดิโอ เลยใช้จุดนี้มาสร้างคอมโพสต์ในรูปของเบียร์ และด้วยสีที่ตัดกัน คัลเลอร์ฟูลแบบสีที่ตาเห็นเลยคิดว่านี่คือจุดเด่นของเรา

ทำไมถึงเลือกสอนศิลปะเด็ก ?

เป็นอย่างนึงที่คิดว่าเราสามารถเก็บศิลปะให้อยู่กับเรา เบียร์อยากเปลี่ยนเรื่องนึงในระบบการศึกษาไทย คือเลิกคิดว่าศิลปะจะต้องเป็นแค่ภาพเหมือน เวลาสอนเด็กมีอย่างนึงเห็นได้ชัดคือ เด็กไม่กล้าวาดเพราะกลัวไม่สวย เราก็จะบอกว่ามั่นใจ วาดเลย พยายามเปลี่ยนความคิดเด็กกับผู้ปกครอง อาจเป็นจุดเล็กๆแต่อยากให้เด็กๆมีความกล้ามากขึ้น หนึ่งในความฝันของเบียร์คือ อยากเป็นนักวิชาการ ถ้าเรามีผลงานที่ support เราได้คนจะยอมรับมากขึ้นอย่างเช่นการปลูกฝังศิลปะในเด็กเขาก็คือตัวเราในอดีต เราไม่รู้ว่าเรามาถึงวันนี้ได้ยังไง พยายามเอาความคิดของตัวเองต่อสู้มาตลอด ถ้าเราเดินทางผิด มันก็ผิดตั้งแต่เด็ก

Art reproduction ในมุมมองของเรา ?

เบียร์คิดว่าศิลปะที่ดีควรเป็นศิลปะที่เข้าถึงทุกคนได้ ไม่ใช่มาบอกว่าคนที่เรียน คนที่เข้าใจ คือคนที่อาร์ต ไม่อยากให้มีชุดความคิดนี้เลย ถ้าสมมติว่าโลกนี้ไม่มีอาร์ตเลยคุณจะรู้สึกยังไง การที่มีรูปวาดเข้ามามันช่วยเบรกความหนักของหนังสือหรืออะไรที่เรามองแล้วไม่เจริญตา เป็นสื่อกลางที่คนดูแล้วเข้าใจได้ง่าย อย่างประโยคที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด ซึ่งมันก็จริงแต่พอเป็นรูปภาพ มองปุ๊บก็รู้เลยว่าคืออะไร และอาร์ตไม่ควรอยู่แค่ที่หอศิลป์ที่เดียว ไม่อย่างนั้นคนต่างจังหวัดก็ไม่มีสิทธิ์รู้หรือเห็น ถ้ารูปของเราเข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำซ้ำได้หลายๆรอบ มันก็เพิ่มโอกาสที่คนจะเห็นศิลปะมากขึ้นการ reproduct เลยน่าจะเป็นวิธีการที่เข้ากับคนยุคสมัยนี้

Related Posts