“ข้อดีของการวาด คือเราจะจำบรรยากาศทุกอย่างที่เราวาดได้”
หากพูดถึง Urban Sketcher หนึ่งในศิลปินที่นึกถึงคือ หลุยส์ – ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา ผู้หลงไหลการวาดเมือง และรักการถ่ายทอดเรื่องราวสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมผ่านสีน้ำ เจ้าของเพจ “Louis Sketcher” เพจชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่า 40,000 คน อุปกรณ์คู่กายคือ กระดาษ ปากกาหมึกซึม และถาดสี
แนะนำตัว
จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็น Urban Sketcher เจ้าของเพจ Louis Sketcher ,illustrator และ Sketching Tutor
เข้าสู่วงการสเก็ตซ์ได้อย่างไร
เรารู้สึกชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่เป็นการวาดเล็กๆน้อยๆ รู้ตัวว่าชอบเพราะเราทำได้ดีที่สุดในบรรดาวิชาที่เหลือ แต่พอย้อนกลับไปดูก็ไม่ได้วาดรูปเยอะขนาดนั้น แต่เก็บความชอบมาเรื่อยๆ จนพอมาวันนึงรู้ตัวว่าชอบวาดรูปแล้วก็เรียนสายวิทย์อยู่ จะเรียนอะไรดีนะ เลยติวเข้าสถาปัตย์ เพราะตัวเองก็ไม่ได้วาดแบบคนที่เรียนมัณฑนศิลป์เค้าวาดกัน เพราะรู้สึกโอโหวาดเยอะจังเลย เราอยากจะวาดอะไรที่มันเป็นตึกๆดูง่ายกว่านั้นก็เลยสอบเข้าสถาปัตย์ แล้วดันไปสอบตรงเข้าสถาปัตย์ไทยติดเป็นสาขาที่เค้าเปิดรับตรงปีนั้นพอดี ก็เลยได้เรียนมาจริงๆก็แทบไม่รู้เลยว่าสถาปัตย์ไทยเค้าเรียนไปทำอะไร ติดแล้วก็ค่อยมาหาข้อมูล
พอใช้ชีวิตอยู่ในคณะก็มีการสเก็ตซ์บ้าง ของสาขาอื่นที่เราเรียนมันมีการไปดูงานที่ต้องทำงานส่งด้วยการสเก็ตซ์ ซึ่งใช้มือเยอะกว่าสาขาวิชาอื่นหน่อย เลยได้ใช้การวาดอยู่เรื่อยๆ จนวันนึงประมาณปี 4 มีเลคเชอร์เล็กๆ ของผู้ก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Sketcher เขาเอาสมุดมาให้ดูและเล่าให้ฟัง เนี่ยแหละที่อยากทำอารมณ์ประมาณนี้ ไปไหนมาไหนก็นั่งวาดรูปดูสุนทรีย์ เราเลยลองทำดู ถ้าแต่ก่อนเวลาอยากวาดรูปเล่นก็จะเปิดจากคอม ดูตามแล้ววาดเอา เราเลยลองเปลี่ยนมาวาดในสถานที่จริงดูบ้าง ซึ่งก็ค้นพบความสนุกสนาน ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ เลยทำมาเรื่อยๆจนเรียนจบ จนมาทำงานก็ยังทำแบบนี้อยู่ และมีโอกาสได้เปิดเพจใน Facebook ตั้งแต่ช่วงปี 5 ลงงานไปเรื่อยๆ ปีกว่าก็เริ่มมีงานเข้ามา แรกเริ่มไม่ได้เปิดเพื่อหางานแต่เปิดเพื่อเป็นโชว์รูมของเรา แล้วก็เริ่มมีคนชวนไปจัด Workshop ไปสอนมากขึ้น เลยตัดสินใจออกจากงานสถาปนิกมาทำตรงนี้ ตอนนั้นใช้เวลาทำงานสถาปนิกอยู่ 2 ปี ตอนนี้เราก็ยังคงชอบงานด้านสถาปัตย์อยู่
รู้แนวทางตัวเองได้ยังไง
เรารู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติมากเพราะทำมันอยู่เรื่อยๆ และชอบการได้ดูงานของรุ่นเก๋าๆว่าเขาใช้อะไรวาด ทำไมชิ้นนี้สวยจัง ดูเทคนิค อุปกรณ์ พอย้อนกลับไปดูเราเริ่มวาด ปี 2013 ประมาณปี 2017-2018 เป็นช่วงพีคที่สุดช่วงนึงเหมือนมันกำลังได้ที่ เราน่าจะใช้เวลาสัก 3-4 ปี ในการวาดไปเรื่อยๆจนเข้ามือ แต่จริงๆแล้วเรื่องสไตล์ ก็ยังเสาะหาเทคนิคใหม่อยู่เรื่อยๆ หลักๆไม่ได้วาดแค่เมืองอย่างเดียวแล้ว เราวาดอาหาร คน เป็นภาพประกอบครอบคลุมมากขึ้น แต่ก็ยังคงต้องศึกษาต่อ
ความเป็น Louis Sketcher
คิดว่าเป็นลายเส้น การสโตรกเส้นมันจะไม่เหมือนกับคนที่เรียนสถาปัตย์มาอย่างชัดเจน แล้วก็ไม่ได้เหมือนกับคนที่เรียนมัณฑนศิลป์มา มันจะก้ำๆกึ่งๆ
การเรียนสถาปัตย์กับการสเก็ต
ได้ประโยชน์มากสำหรับการสเก็ตซ์เมือง เพราะว่าเวลาเราเห็นตึก จะสามารถมองเห็น 3 มิติของมันและอ่านเส้นออก ทำให้สเก็ตได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานสถาปัตย์เลย แต่ไม่ได้บอกว่าคนที่ไม่มีพื้นฐานจะวาดไม่ได้แค่อาจจะไม่คุ้นชิน อุปกรณ์ติดตัว คือสีน้ำ กระดาษ ปากกาหมึกซึม หลังๆพอมีไอแพดจะเลือกว่าอยากได้ mood แบบไหน Digital หรือ Traditional เคยพกไปทั้งคู่ ปวดหลังเหมือนกัน (หัวเราะ)
เทคนิคการวาดเมืองของตัวเอง
ปกติจะเลือก Normal eye view เลือกลักษณะตึกที่มีรูปทรงน่าสนใจ มีประวัติศาสตร์ หรือเป็น Landmark ของสถานที่นั้นๆ ก็คือเรื่องราวหนึ่งเรื่องแล้วล่ะที่เราเลือกมา จากนั้นนำมาจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงาม หรือจะเป็นพวกวิถีชีวิต อาหาร ที่อยู่ในย่านนั้นๆ รวมไปถึงร้านอาหาร คาเฟ่ นอกเหนือจากตึกเปล่าๆจะก็จะชอบวิถีชีวิต วัฒนธรรม
ผลงานชิ้นล่าสุด
Bangkok illustration fair ผ่านไปในรอบ 150 คน เน้นงานทางด้าน Cultural ,Architecture ,แมว ,เมือง ,อาหาร และวัฒนธรรม ที่เราสนใจ ดีใจที่ได้ผ่านเข้ารอบ แต่ละคนเก่งๆทั้งนั้นเลยเปิดโลกมาก ส่วนงานเส้นสดทาง BACC ชวนไปจัด เลยชวนพี่อีก 2 คนที่มีสไตล์ใกล้ๆกัน วาดในสถานที่จริงเหมือนกัน มาแสดงให้เห็นบรรยากาศ พอกลับไปดูรูปเก่าๆที่ไปวาด หรือตอนไปทริปต่างประเทศความทรงจำมันผุดขึ้นมาใหม่ ข้อดีของการวาดคือเราจะจำบรรยากาศทุกอย่างที่วาดได้ เราทั้ง 3 คนชอบไปวาดต่างประเทศด้วยกัน ประกอบกับช่วงโควิทก็ไม่ได้เดินทาง เราเลยอยากแสดงรูปพวกนี้ให้คนคิดถึงเรื่องการเดินทาง ถ้าใครสนใจอยากวาดจะได้เห็นว่ามีกิจกรรมประเภทนี้ด้วยนะ
มุมมองคนวาดเมือง ชอบเมืองแบบไหน
ถ้าในไทยจะชอบที่สงบ แต่ละสถานที่ที่ไปวาดเราจะจำบรรยากาศมันได้ เช่น โบสถ์อัสสัมชัญ โบสถ์การวาทย์ วัดบวรฯ ศาลเจ้ากวนอู ประทับใจเกือบทุกอัน ของต่างประเทศจะชอบไต้หวัน เมืองดี พื้นที่สาธารณะดี อาหารดี แต่เรื่องราวที่จำไม่ลืมก็คืออินเดีย ตอนนั้นยังทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ แล้วได้ไปทำงานที่นั่น เอาสมุดไปนั่งวาดรูปด้วยความสงสัยใคร่รู้ เวลานั่งวาดเขาจะมามุงดูเรา ไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร มี 10 กว่าคนรุม ก็สนุกและได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ได้กินอาหารอินเดียด้วย
ผลงานในอนาคต
ตอนนี้อยากทำอะคริลิค และในอนาคตคิดว่าจะค่อยๆแปรสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้เป็น Abstract มากขึ้น พยายามหา Balance ระหว่างความชัดและไม่ชัดเพราะตอนนี้มันชัดไปหมดบางทีดูแล้วก็เลี่ยนเอง เราว่าเสน่ห์ของการวาดคือความไม่แน่นอน กำลังทำหนังสือเกี่ยวกับเมือง รวบรวมตึกแถวในกรุงเทพที่น่าสนใจ อยู่ในฟีลของสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมอยู่ และฝากหนังสือรวมภาพสเก็ตซ์ Moments in Bangkok ทุกรูปวาดสถานที่จริงในกรุงเทพหมดเลย สามารถไปตามรอยในแผนที่ได้เราทำแผนที่ไว้ในหนังสือให้ด้วย
reproduction ในมุมมองของ Louis sketcher
มันไม่ใช่ทุกคนที่สามารถซื้อผลงานแบบ Original ได้ พูดกันในแง่เศรษฐศาสตร์ ตอบโจทย์ในเรื่องการซื้อได้ง่ายกว่า ตัวงานเราก็กระจายไปได้กว้างกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า การปริ๊นท์ การแสกน ที่ดีก็สำคัญ ข้อเสียของ Reproduction อย่างนึงจะพบว่า เราปริ้นเท่าไหร่ก็ได้คุณค่ามันจะลดลง ถ้ามีการทำเป็น limited มันก็จะน่าจะสะสม