เปิดเรื่องราวชีวิตไปกับ ฟาน – ปีติชา คงฤทธิ์ จากสาวนักเขียนผู้หลงไหลในตัวหนังสือสู่นักวาดภาพประกอบ Victorian Style เจ้าของเพจ faan.peeti
แนะนำตัวเอง
ฟาน – ปีติชา คงฤทธิ์ จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานเป็นนักเขียนที่ a day อยู่ช่วงหนี่ง และไปเรียนปริญญาโทด้าน illustration ต่อที่ Kingston ประเทศอังกฤษ หลังจากเรียนจบกลับมาทำงานเป็น illustration designer ดูแลเรื่องภาพประกอบทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์อยู่ที่ a day อีก 3 ปี เมื่อปลายปีที่แล้วตัดสินใจลาออกมาทำงานฟรีแลนซ์เต็มตัว ปัจจุบันเป็น illustrator เจ้าของเพจ faan.peeti
หนทางสู่วงการ illustration
ช่วงที่เรียนมัธยมชอบอ่านหนังสือมากๆ เช่น หลังสือของนิ้วกลม จนเรารู้สึกว่าอยากเป็นแบบพวกเขาจัง เลยไปหาว่าเขาเรียนที่ไหนกัน แล้วก็พบว่านักเขียนส่วนใหญ่ที่เราชอบเรียนสถาปัตย์ จุฬา กันเกือบหมดเลยคิดว่านี่แหละที่เราจะเรียนแม้ว่าที่นี่จะสอนสิ่งอื่นที่ไม่ใช่การเขียนอย่างเดียว แต่เราก็อยากมีความคิดสร้างสรรค์แบบเขา พอได้มาเรียนก็ได้ค้นพบความชอบของตัวเอง ว่านอกจากเราจะสนใจเรื่องงานเขียน ,หนังสือ , ความคิดสร้างสรรค์แล้วยังสนใจเรื่องภาพวาดด้วย ช่วงนั้นได้เริ่มหัดวาดรูปเล่นและลงผลงานใน instragram ที่ไม่ใช่งานส่งอาจารย์ รู้สึกได้เป็นอิสระจากการตัดสินของทุกคน พอเรียนมาได้สักพักเริ่มได้ทำงานเกี่ยวกับการเขียน การสัมภาษณ์ เป็นนักเขียนสมใจอย่างที่อยากเป็นอยู่ที่ a day ช่วงหนี่ง หลังจากนั้นไปเรียนปริญญาโทด้าน illustration ต่อที่ Kingston ประเทศอังกฤษ และกลับมาทำงานเป็น illustration designer ดูแลเรื่องภาพประกอบทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์อยู่ที่ a day อีก 3 ปี เมื่อปลายปีที่แล้วตัดสินใจลาออกมาทำงานฟรีแลนซ์ ช่วงนั้นเราได้ทดลองค้นหาสไตล์ของตัวเองจนพบ
ค้นหาสไตล์ของตัวเองยังไง
ช่วงที่อยู่อังกฤษเราได้ค้นพบว่าตัวเองว่าถนัดแนวไหน ได้อยู่ในที่ที่ไม่มีใครรู้จักเรา ได้ลองใช้ชีวิตคนเดียว ไปที่ที่เราเคยกลัว ทำอะไรก็ได้ไม่มีใครตัดสิน เหมือนดีดนิ้วแล้วเราได้เป็นคนใหม่ และการเรียนที่ประเทศอังกฤษสอนได้น่าสนใจมาก เขาไม่ได้สอนให้ไปวาดรูปมาส่ง แล้วตัดสินว่าผลงานของใครสวยหรือไม่สวย แต่เขาเปิดพื้นที่ให้เราได้สำรวจสิ่งที่แต่ละคนชอบจริงๆแล้วนำผลงานมาวิเคราะห์ร่วมกัน ทำให้เราได้ค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น
ความเป็น Faan peeti
ช่วงที่อยู่อังกฤษเราเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ร้านหนังสือเยอะมาก ส่วนตัวชอบหนังสืออยู่แล้ว ส่งผลให้เราซึมซับความเป็นสไตล์ยุโรป แฟนตาซีมา และได้ไปเจอหนังสือ Alice in wonderland เวอร์ชั่นเก่าๆมีภาพประกอบ Victorian Style เห็นแล้วประทับใจมาก ต่อมาจึงได้เริ่มหัดวาดภาพแนวนี้ กลายเป็นว่าเราสนใจเรื่องการสานเส้น งานที่มีความละเอียด details จัด รวมถึงพวกพืชพรรณต้นไม้ดอกไม้ที่ได้พบเจอในอังกฤษ ผลงานจึงออกมาเป็นการผสานระหว่างการวาดต้นไม้ดอกไม้ เรื่องราว fairy แฟนตาซีนิทานฝรั่ง ที่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆอย่างคนตัวจิ๋ว และการสานเส้นอย่างละเอียด พอกลับมาเมืองไทยก็ได้รวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า London book sanctuary ทั้งหมดนี้เราไปสัมภาษณ์เจ้าของร้าน ถ่ายรูปร้าน วาดภาพประกอบ เรียบเรียงเองทั้งหมดเลย เล่มนี้คือการผสมทุกอย่างความเป็นเราทั้งการเขียน การวาด ความคิดจินตนาการ การตีความจากตอนที่ได้ร่ำเรียนมาจากสถาปัตย์ทั้งหมด
เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ค้นหาตัวเองพบ 1 เรื่อง
ช่วงทำ thesis คือช่วงที่หลายคนทุกข์ทรมาน ตอนเราทำ thesis ที่อังกฤษก็เช่นกัน แม้เราจะบอกว่าอาจารย์ไม่ตัดสินงานจากความสวยงาม แต่เราก็ยังติดความคิดที่ว่างานชิ้นนี้ต้องทำออกมาให้ทุกคนมองว่าเจ๋ง คิดได้ไงเนี่ย การมี mindset แบบนี้ทำให้เรา loss ไปเลยช่วงใหญ่ เราลืมการวาดรูปเพื่อตัวเองแต่ไปวาดเพื่อความสุขของคนอื่นแล้วมานั่งเดาว่าทำยังให้ให้คนมีความสุข มองสิ่งที่ตัวเองทำไม่ออกว่า เรากำลังทำอะไรอยู่จนหลงทาง สุดท้ายก็ไม่มีความสุข กับตัวเอง งานจบไปได้โอเค มีอาจารย์ เพื่อน ชมว่าผลงานสวย แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราภูมิใจเลย ไม่เก็บงานกลับมาที่ไทยด้วยซ้ำ
หลังจากนั้นอาจารย์ชวนเราไปทำ project นึง ได้ไปสำรวจโรงละครที่เก่าที่สุดของโลกในอังกฤษ ทำงานอาร์ตอะไรขึ้นมาก็ได้จากสถานที่นี้แล้วจัดนิทรรศการเล็กๆขึ้นร่วมกัน เรารู้สึกว่าพอจบจากพันธนาการ thesis ไม่มีอะไรมาจำกัดกรอบความคิด สำรวจสิ่งนี้แล้วอยากทำอะไรก็ทำ ได้กลับมาค้นหาความสงสัยใคร่รู้ของตัวเองอีกครั้ง เลยทำให้จิตนาการโลดแล่นมาก เราสร้างเป็น paper theater เหมือนของเล่นในยุค victorian สร้าง character คนดังๆในประวัติศาสตร์ให้เป็นหนูในโรงละคร คนในอังกฤษก็ตื่นเต้นมากที่เห็นงานชิ้นนี้ พอจะกลับจากอังกฤษเราก็ไม่รู้จะทำยังไงกับโรงละครนี้ ขนกลับก็ไม่ได้เพราะมันใหญ่ไป เลยเอาไปไว้ที่ Pollocks Toy Shop เป็นร้านขายของจาก museum ที่รวบรวมโรงละครกระดาษในอังกฤษ เขารับซื้อไว้และตั้งเป็น permanent collection ของช็อป และหลังจากนั้นเขาติดต่อให้เราทำของขายในโปรเจกต์ถัดไปของช็อปด้วย คิดดูว่าจากงานที่เราทำเพราะความชอบของตัวเองล้วนๆโดยไม่มีความกดดันใด มันพาเรามาถึงตรงนี้เลย วันนี้เรามีของที่เราวาดวางขายในอังกฤษ ทำให้รู้ว่าสุดท้ายต้องกลับมาที่ตัวเอง สนุกก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจผลลัพธ์มัน แล้วจะเจอสิ่งที่ดีแน่นอน
แรงบันดาลใจที่สร้างสรรค์ผลงาน
ตอนเด็กๆเราคิดว่ามันคือการที่เราวาดรูปแล้วมีคนมากดไลค์ใน instragram แต่พอเราได้ค้นหาตัวเองเจอ แล้วคิดกับตัวเองมากขึ้นกลับพบว่า เรามีความสุขในช่วงเวลาที่ได้วาดมันคือการเติมเต็มชีวิตของเรา จะไม่ยอมให้เกิดคำว่า “เสียดาย” ถ้าเกิดว่าวันนึงเราอาจวาดรูปไม่ได้อีก ไม่อยากมีชีวิตแล้วเสียดาย มันดูไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่ทำเพื่อความสุขของตัวเอง ถ้าเรามีความสุขกับการทำสิ่งที่ตัวเองหลงไหล มันจะสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ได้เอง และสิ่งนี้อาจจะมีประโยชน์กับผู้อื่นในอนาคต
2 ผลงานที่อยากพูดถึง
งานแรกคือภาพเซ็ตดอกไม้ที่ชื่อว่า “Message from flower” ผลงานนี้ได้รางวัลชนะการประกวดงาน Happening makers 2019 และได้นำมาตีพิมพ์กับ Adis art ด้วย จริงๆงานนี้เป็นโปสการ์ด 15 ภาพ ที่ต่อกันเป็นดอกไม้ช่อใหญ่ เป็นผลงานการระเบิดพลังของตัวเอง เราใส่ความละเอียดยิบย่อยเยอะมาก ประกอบด้วยดอกไม้ 10 ชนิด แต่ละชนิด มี flower language ของตัวเองเช่น ดอกเบญจมาศมีความหมายว่า ฉันเป็นเพื่อนที่ดีของเธอ ช่อดอกไม้ช่อนี้คือการสื่อข้อความพลังบวกส่งไปยังผู้อ่าน งานนี้พาเราไปชนะการประกวดและยิ่งกว่านั้นคือพาเราไปรู้จักบุคคลสำคัญในวงการภาพประกอบเยอะมาก เปิดประตูให้ผู้คนได้รู้จักตัวตนของเรา และได้มีรุ่นพี่รุ่นน้องที่คอยซัพพอร์ตกันถึงทุกวันนี้
ชิ้นที่สองคืองานที่เราวาดตอนออกจากงานประจำมา แล้วจัดนิทรรศการชื่อว่า “Miss you spring time” โจทย์ของงานนี้คือ นิยามฤดูใบไม้ผลิของคุณคืออะไร ความรู้สึกตอนทำงานนี้คืออยากระเบิดพลังใส่ความเป็นตัวเองเหมือนงานชิ้นแรกเลย เราจินตนาการให้เป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่ที่อังกฤษ แทนตัวเองและพี่สาวเป็นกระรอกกับกระต่ายนั่งปิกนิกในสวนที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง รู้สึกว่าโมเมนต์นั้นเหมือนฝันว่าได้ไปอยู่ในนิทานวัยเด็กอีกครั้ง และภาพนี้ก็เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการวาดดอกไม้
ฝากผลงาน
ติดตามได้ทาง facebook “faan.peeti” / IG “faanpeeti”
แนวคิดต่อการ reproduction
เรามองว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์มันเป็นสิ่งที่ทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่คนชั้นสูงเท่านั้น กลับมาที่ยุคนี้มันเป็นการทำให้งานศิลปะของเราเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการครอบครองสิ่งสวยงามไว้ที่บ้านในราคาที่จับต้องได้ ศิลปะไม่ควรเป็นของแพง มันคงจะดีถ้าทุกคนได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สวยงามไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ทำงาน หรือสถานที่ใดก็ตาม งาน original ก็มีคุณค่าในตัวมันเอง แต่การ reproduction เป็นการส่งเสริมให้ตัวงานไปไกลขึ้น ภาพรวมคือการส่งเสริมวงการศิลปะและทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าของศิลปะมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการ reproduction ต้องทำให้ศิลปินและวงการศิลปะอยู่ได้ด้วยโดยการ balance จำนวนการผลิต